การปลูกยาง
ลักษณะดินและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
สภาพพื้นที่ควรเป็นที่ราบ ไม่มีน้ำท่วมขัง หรือมีความลาดเอียงต่ำกว่า 35 องศา ลักษณะดินที่เหมาะสมต่อการปลูกยางพารา ควรเป็นดินร่วนเหนียวถึงดินร่วนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ หน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ไม่มีชั้นดินดาน มีการระบายและถ่ายเทอากาศดี มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างระหว่าง 4.5-5.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของยางพาราอยู่ระหว่าง 24-27 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,250 มิลลิเมตรต่อปี มีจำนวนวันฝนตกประมาณ 120-145 วันต่อปี และมีความต้องการปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน 184 กรัมต่อตัน ฟอสฟอรัส 19 กรัมต่อตัน และโพแทสเซียม 145 กรัมต่อตัน ในแต่ละฤดูกาล
พันธุ์ยางพารา
พันธุ์ยางพาราที่นิยมปลูกได้แก่ สถาบันวิจัยยาง 251 (RRIT 251) สงขลา 36 BPM 24 PM 255 PB 260 PR 255 RRIC 110 และ RRIM 600
การเตรียมดิน
ทำการไถพลิกและไถพรวนอย่างน้อย 2 ครั้ง พร้อมทั้งเก็บตอไม้ เศษไม้ และเศษวัชพืชออกให้หมด เพื่อปรับหน้าดินให้เหมาะสมกับการปลูกยางพารา สำหรับพื้นที่ลาดเอียงมากกว่า 15 องศา จะต้องวางแนวปลูกตามขั้นบันได เพื่อลดอัตราการสูญเสียหน้าดิน โดยมีความกว้างของหน้าดินอย่างน้อย 1.5 เมตร เพื่อป้องกันต้นยางพาราล้ม หากขั้นบันไดเสียหาย ในกรณีพื้นที่ปลูกเป็นที่ราบก็ทำเฉพาะทางระบายน้ำเท่านั้น และทำการปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน พืชปุ๋ยสดที่นิยมใช้ ได้แก่ ปอเทือง อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือโสนอัฟริกัน อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านหรือโรยเป็นแถว และไถกลบเมื่ออายุ 45 วัน และปล่อยให้ย่อยสลาย 15 วัน แล้วจึงเตรียมหลุมปลูกยางพารา
วิธีการปลูกยางพารา
ต้องวางแนวปลูกตามแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยมีระยะปลูก 2.5 x 8.0 เมตร หรือ 3.0 x 7.0 เมตร หรือ 3.0 x 6.0 เมตร ในแหล่งปลูกยางใหม่ โดยมีขนาดของหลุม 50 x 50 x 50 เซนติเมตร และทำการปลูกต้นกล้ายางพารา โดยคัดเลือกต้นกล้ายางพาราที่สมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืช ขนาด 1-2 ฉัตร และคลุกปุ๋ยหมักอัตรา 15-25 กิโลกรัมต่อหลุม พร้อมกับใส่เชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชที่ผลิตจากสารเร่ง พด.3 อัตรา 3 กิโลกรัมต่อตัน ใส่รองก้นหลุมและทำการปลูกต้นกล้ายางพารา หลังจากปลูกยางพาราได้ 15 วัน ให้ปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน เช่น ถั่วคาโลโปโกเนียม อัตรา 2 กิโลกรัมต่อไร่ หรือถั่วคุดซู อัตรา 2 กิโลกรัมต่อไร่ หรือถั่วฮามาด้า อัตรา 2 กิโลกรัมต่อไร่ โรยเป็นแถวแทรกระหว่างยางพารา เพื่อป้องกันกำจัดวัชพืช ป้องกันการชะล้างพังทลาย และเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน
การดูแลรักษา
ให้ทำการฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่ง พด.2 ให้พืชปุ๋ยสดทุก 7 วัน อัตรา 2 ลิตรต่อไร่ นำมาเจือจาง 1:1,000 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืชปุ๋ยสด และหลังจากปลูกยางพาราแล้ว 15 วัน ให้ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำให้กับยางพาราทางใบ หรือราดรดลงดินทุก 1 เดือน และให้ฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำกับพืชตระกูลถั่วที่ปลูกคลุมดินด้วย
การป้องกันกำจัดโรค
โรคราแป้ง ราสีชมพู โรคใบร่วง และผักเน่า และแมลงต่าง ๆ เช่น ปลวก หนอนทราย รวมทั้งวัชพืชชนิดต่าง ๆ ทำได้โดยใช้สารสกัดธรรมชาติหรือสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช การกรีดยางสามารถทำการกรีดยางได้เมื่อต้นยางอายุ 6 ปี ขนาดเส้นรอบวงของลำต้น บริเวณที่ทำการกรีดยางไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร โดยกรีดครึ่งลำต้น ความสูง 150 เซนติเมตร จากพื้นดิน โดยกรีดทำมุม 30 องศา กับแนวระนาบ และเอียงจากซ้ายบนลงมาขวาล่าง ติดรางรองรับน้ำยางห่างด้านหน้าประมาณ 30 เซนติเมตร และติดลวดรับถ้วยน้ำยางให้ห่างจากรางรองรับน้ำยางลงมาประมาณ 10 เซนติเมตร กรีดยางให้ลึกใกล้เนื้อไม้มากที่สุด แต่ไม่ควรถึงเนื้อไม้ เมื่อกรีดยางเสร็จ ควรฉีดพ่นหรือทาบริเวณที่กรีดด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำเจือจาง 1:1,000 เพื่อให้ยางมีน้ำยางมากที่สุด ยืดอายุการกรีดยางและต้นยางเสียหายน้อยที่สุด
การจัดการดินหลังเก็บเกี่ยว
ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นมีอายุยาว ดังนั้นในแต่ละปี จะต้องมีการปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุหรือปุ๋ยอินทรีย์ โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พืชตระกูลถั่วคลุมดิน พร้อมทั้งเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชรอบ ๆ โคนต้นยางพารา ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว การจัดการดินเพื่อปลูกยางพาราโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวนี้จะสามารถลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือสามารถเพิ่มผลผลิตยางพาราได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับวิธีการปฏิบัติเดิมของเกษตรกร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น