การเลี้ยงหมู
1. การเตรียมคอก
การเลี้ยงแบบเดิมจะเป็นพื้นราดปูนแข็ง เพื่อง่ายแก่การทำความสะอาด ซึ่งทำให้หมูเครียดเพราะอยู่ไม่สบาย แต่การเลี้ยงแบบนี้จะเป็นพื้นอ่อน และโรงเรือนจะต้องสัมพันธ์กับจำนวนหมู โดยให้มีขนาดคอกกว้าง 2 X 6 เมตร สามารถเลี้ยงได้คอกละ 9 ตัว เริ่มด้วยการขุดพื้นคอกลึกลงไป 90 เซนติเมตร (หรือขุดเพียง 45 ซม. แล้วเอาดินที่ขุดขึ้นมานั้นถมด้านข้างก็จะได้ความลึก 90 ซม.) ในการมุงหลังคานั้นควรให้ตีนชายคากว้างกันไม่ให้น้ำฝนสาดเข้ามาในคอก และเมื่อตีฝาคอกแล้ว ต้องใช้อิฐบล็อกหรือไม้ไผ่กั้นรอบ ๆ คอกลึกลงไปจากพื้นดินประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร เพื่อกันไม่ให้หมูขุดออกนอกคอกได้ (การกั้นฝาคอกควรติดตั้งประตูปิด-เปิดได้ไว้ เพื่อความสะดวกในการนำหมูเข้า–ออก) สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือบริเวณที่จะสร้างคอกไม่ควรเป็นพื้นที่ต่ำน้ำท่วมขัง และควรเป็นที่ร่มใต้ต้นไม้มีอากาศถ่ายเทได้ดี เพราะหมูเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบอากาศร้อน
2. การเตรียมวัสดุพื้นคอก
เมื่อขุดหลุมเสร็จ ก็ปูพื้นคอกโดยใช้แกลบ 10 ส่วน ผสมดินละเอียด 1 ส่วน เทลงก้นหลุมที่ขุดไว้ให้มีความหนา 30 ซม. แล้วใช้เกลือเม็ด 1 ถ้วยตราไก่ หรือประมาณครึ่งลิตรโรยหน้า แล้วใช้น้ำหมักชีวภาพ 2 ช้อนแกงผสมน้ำ 1 บัว (10 ลิตร) ราดให้ทั่ว ทำเหมือนเดิมอีก 2 ชั้นจนเท่าระดับพื้นดิน ช่วงนี้วัสดุพื้นคอกจะยังร้อนจากการทำงานของจุลินทรีย์ ทิ้งไว้ประมาณ 10 วันจึงนำหมูเข้าอยู่ได้ และควรราดน้ำหมักชีวภาพลงบนพื้นคอกเพิ่มเติมอีกทุก ๆ 5-7 วัน ครั้งละ 1 บัว ภายหลังจากเริ่มเลี้ยงหมูแล้ว เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ
3. การให้อาหารและน้ำ
อาหารผสม หรืออาหารสำเร็จที่เคยให้เป็นหลักนั้นจะต้องลดลง เหลือเพียงประมาณร้อยละ 30 เช่น เราเคยให้ตัวละ 2 กก. ต่อวัน ก็จะต้องเหลือแค่ตัวละ 6 ขีด ต่อวัน ส่วนอาหารที่จะให้หมูกินเป็นหลักคือผักที่มีอยู่ตามธรรมชาติทั่วไป เหมือนการเลี้ยงในสมัยก่อน เช่น หยวกกล้วย ผักเบี้ย ผักขม ผักตบชวา ยอดกระถิน ยอดข้าวโพด ใบมัน ฯลฯ โดยนำมาหั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วแช่ในน้ำที่ผสมน้ำหมักชีวภาพไว้นานประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง ซึ่งใช้สูตรเดียวกับน้ำที่ให้หมูกิน คือผสมน้ำหมักชีวภาพกับน้ำ ในอัตราส่วนตั้งแต่ 1 ต่อ 1,000 สำหรับหมูเล็ก, 1 ต่อ 800 สำหรับหมูรุ่นและ 1 ต่อ 500 สำหรับหมูใหญ่ หรือหมูพ่อ-แม่พันธุ์ (น้ำ 1 ปี๊บ มี 20 ลิตร หากเป็นหมูเล็กผสมแค่ 2 ช้อนโต๊ะ,หมูรุ่น ผสม 3 ช้อนโต๊ะ, หมูใหญ่ ผสม 4 ช้อนโต๊ะ)
4. การป้องกันโรค
เนื่องจากการเลี้ยงหมูแบบต้นทุนต่ำนี้ มีน้ำหมักชีวภาพซึ่งมีจุลินทรีย์ และวิตามินจากผักเป็นตัวหลักในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหมู แต่หากอาหาร หรือน้ำไม่สะอาดพอ หมูอาจมีอาการท้องเสีย หรือขี้เหลวได้ (ซึ่งปกติไม่ค่อยเกิดบ่อยนัก) ต้องรักษาโดยนำใบผรั่งสด ใบฟ้าทะลายโจรสด และเถาบอระเพ็ดเอาให้หมูกิน รวมทั้งจะต้องหาว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น อาหารและน้ำอาจไม่สะอาดพอ ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่ นอกจากนี้ควรใช้มุ้งเขียวคลุมคอกเพื่อกันยุงตั้งแต่เย็นถึงเช้า แต่หากเป็นพื้นที่ที่มีตัวริ้นชุกชุม (โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน) ควรนำเอาตะไคร้หอมมาทุบแช่น้ำ แล้วฉีดพ่นให้หมูในช่วงหัวค่ำ (ระวังอย่าให้เข้าตา) เนื่องจากตะไคร้หอมมีสรรพคุณช่วยไล่แมลงได้เป็นอย่างดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น